วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์




ประวัติการปกครองของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์




การปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูปการปกครองการบริหารที่สำคัญของชาติไทยโดยมีมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการปกครอง คือ


มูลเหตุของการปรับปรุงการปกครอง


เนื่องจากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุการณ์บ้านเมืองได้ผันแปรแตกต่างกว่าเดิมเป็นอันมาก ทั้งความเจริญของบ้านเมืองก็เป็นเหตุให้ข้าราชการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับลักษณะการปกครองที่ใช้มาแต่เดิมนั้นย่อมพ้นความต้องการตามสมัยสมควรที่จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "..การปกครองบ้านเมืองของเราซึ่งเป็นไปในปัจจุบันนี้ ยังไม่เป็นวิธีการปกครองที่จะให้การทั้งปวง เป็นไปโดยสะดวกได้แต่เดิมมาแล้วครั้นเมื่อล่วงมาถึงปัจจุบันบ้านเมืองยิ่งเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่าการปกครองอย่างเก่านั้นก็ยิ่งไม่สมกับความต้องการของบ้านเมืองหนักขึ้นทุกทีจึงได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ที่จะแก้ไขธรรมเนียมการปกครองให้สมกับเวลาที่เป็นการเจริญแก่บ้านเมือง......"
ประกอบด้วยในรัชกาลของพระองค์นั้นเป็นระยะเวลาที่ลัทธิจักรวรรดินิยมกำลังแผ่ขยายมาทางตะวันออกไกล ด้วยนโยบาย Colonial agrandisement ประเทศมหาอำนาจตะวันตกเช่นอังกฤษและฝรั่งเศสได้ประเทศข้างเคียงรอบๆ ไทยเป็นเมืองขึ้น และทั้งสองประเทศยังมุ่งแสวงหาผลประโยน์จากประเทศไทยดังเช่นที่ฝรั่งเศสได้ถือโอกาสที่ไทยยังไม่มีระบบการปกครองที่ดี และรักษาอาณาเขตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้อ้างวิธีการสำรวจทางวิชาการซึ่งเรียกว่า "Scientific expedition" เป็นเครื่องมือโดยอาศัยปัญหาเรื่องชายแดนเป็นเหตุ กล่าวคือ เมื่อฝรั่งเศสได้ดินแดนญวน แล้วได้ตั้งเจ้าหน้าที่ของตนออกเดินสำรวจพลเมืองและเขตแดนว่ามีอาณาเขตแน่นอนเพียงใด และเนื่องจากเขตแดนระหว่างประเทศไทยมิได้กำหนดไว้อย่างแน่นนอนรัดกุม จึงเป็นการง่ายที่พวกสำรวจเหล่านั้นจะได้ถือโอกาสผนวกดินแดนของไทยเข้าไปกับฝ่ายตนมากขึ้นทุกที ด้วยเหตุดังกล่าวประเทศไทย จึงจำเป็นต้องปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว
มูลเหตุอีกประการหนึ่งของการปรับปรุงการปกครองก็คือ พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในอันที่จะยกเลิกขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นการกดขี่กันหรือก่อให้เกิดความอยุติธรรมแก่อาณาประชาราษฎรซึ่งมีอยู่นั้นเสีย ขนบธรรมเนียมดังกล่าวได้แก่การมีทาสการใช้จารีตนครบาลในการพิจารณาความพระราชประสงค์ของพระองค์ในเรื่องนี้ ปรากฏในพระราชปรารภว่าด้วยเรื่องทาสและเกษียณอายุตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ามีความปรารถนาว่าการสิ่งไรซึ่งเป็นการเจริญมีคุณแก่ราษฎรควรจะเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยตามกาลเวลา การสิ่งไรที่เป็นธรรมเนียมบ้านเมืองมาแต่โบราณแต่ไม่เป็นยุติธรรมก็อยากจะเลิกถอนเสีย"
นอกจากนี้พระราชประสงค์ของพระบาทสทเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในอันที่จะทรงนำเอาสิ่งใหม่ ๆ มาใช้ในการปกครองประเทศ เช่น ได้ทรงจัดตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Councilof state)ประกอบด้วยเหล่าสมาชิกตั้งแต่ 10 - 20 นาย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประธานสภาและได้ทรงจัดตั้งสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy council)ประกอบด้วยจำนวนสมาชิกสุดแต่พระประสงค์ซึ่งต่อมาใน ปีร.ศ.113 ได้ทรงยกเลิกสภาที่ปรึกษาและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีสภาขึ้นแทน อันประกอบด้วยเสนาบดีหรือผู้แทนทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอีกไม่น้อยกว่า 12 คน อนึ่งการเริ่มให้มีการปกครองท้องถิ่นก็เป็นมูลเหตุสำคัญกับผู้ที่ประการหนึ่งที่ทำให้มีการปรับปรุงการปกครองในรัชสมัยของพระองค์
เนื่องจากในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีฝรั่งชาติตะวันตกหลายชาติเข้ามาทำหนังสือสัญญาพระราชไมตรีกับประเทศไทยหนังสือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นได้ยอมให้ฝรั่งมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือยอมให้ฝรั่งตั้งศาลขึ้นเรียกว่าศาลกงศุลขึ้นพิจารณาความของคนในบังคับของตนได้อันเป็นการไม่ยอมอยู่ใต้บังคับบัญชาของกฏหมายไทย ทั้งนี้เนื่องมาจากว่าฝรั่งถือว่ากฏหมายและวิธีพิจารณาความของประเทศไทยยังไม่มีระเบียบแบบแผนดีพอการที่ฝรั่งต่างประเทศมีศาลกงศุลพิจารณาความของคนในบังคับของตนนั้นทำให้ประเทศไทย มีความยุ่งยากทางการปกครองเกิดขึ้นเสมอ จึงทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงการศาลยุติธรรมและกฏหมายของประเทศให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและเป็นที่เชื่อถือแก่ต่างประเทศเพื่อขจัดความยุ่งยากอันเกิดจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จึงได้มีการปรับปรุงด้านตุลาการครั้งใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ด้วย
นอกจากนี้มีผู้รู้ คือ วรเดช จันทรศร ได้สรุปถึงปัญหาที่สยามประเทศเผชิญอยู่ในขณะนั้นที่เป็นเงื่อนไขความจำเป็นที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่รวม 7 ประการ ได้แก่
1. ปัญหาความล้าหลังของระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีรูปแบบของการจัดที่ทำให้เอกภาพของชาติตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มั่นคงระบบบริหารล้าสมัยขาดประสิทธิภาพมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนและสับสนการควบคุมและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางไม่สามารถทำได้ทำให้ความมั่นคงของประเทศอยู่ในอันตรายและยังเปิดโอกาสให้จักรรดิ์นิมยตะวันตกสามารถเข้าแทรกแซงได้โดยง่าย
2. ระบบบริหารการจัดเก็บภาษีอากรและการคลังของสมายประเทศ มิได้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาปรับปรุงบ้านเมืองและเสริมสร้างพระราชอำนาจให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากขาดหน่วยงานกลางที่จะควบคุมดูแลการจัดเก็บรักษาและใช้เงินรายได้แผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเจ้าพนักงานขุนนางผู้ดูแลการจัดเก็บภาษีรัฐ และเจ้าภาษีนายอากร ให้อยู่ในระเบียบกฏเกณฑ์ได้
3. การควบคุมกำลังคนในระบบไพร่ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ไพร่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง เพื่อล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เกิดความไม่มั่นคงต่อพระราชบัลลังก์ เกิดการขาดเอกภาพในชาติทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความล้าหลังไพร่ไม่สามารถสะสมทางเศรษฐกิจทั้งนี้ เพราะผลเนื่องมาจากการเกณฑ์แรงงาน นอกจากนี้การฉ้อราษฎร์บังหลวงของมูลนาย ยังเป็นการทำลายผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และเกิดความเสียหายต่อสยามโดยรวม
4. ปัญหาการมีทาส ก่อให้เกิดการกดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมเป็นเครื่องชี้ความป่าเถื่อนล้าหลังของบ้านเมืองที่มีอยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศต่างชาติอาจใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงของลัทธิล่าอาณานิคมที่จะสร้างความศิวิไลซ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในชาติด้อยพัฒนา ในแง่เศรษฐกิจระบบทาสของสยามเป็นระบบใช้แรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการเป็นการพัฒนาคุณภาพกำลังคนในชาติ
5. ระบบทหารของสยามประเทศเป็นระบบที่ไม่สามารถป้องกันผลประโยชน์ และเกียรติของชาติไว้ได้เป็นระบบที่ยึดถือแรงงานของไพร่เป็นหลักในการป้องกันพระราชอาณาจักรทำให้การควบคุมประชาชนในประเทศถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ทำให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์และเอกภาพของชาติตั้งอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคง ทำให้กองทัพขาดเอกภาพขาดระเบียบวินัยอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมรบไม่อำนวยให้เกิดการฝึกหัดที่ดีและการเรียกระดมเข้าประจำกองทัพล่าช้าทำให้ไม่ทราบจำนวนไพร่พลที่แน่นอน
6. ปัญหาข้อบกพร่องของระบบกฏหมาย และการศาลที่ล้าสมัยแตกต่างจากอารยะประเทศไม่เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับคนในชาติและชาวต่างชาติบทลงโทษรุนแรงทารุณการพิจารณา ล่าช้าคดีคั่งค้างไม่สามารถรองรับความเจริญทางการค้าพาณิชย์และสภาพสังคม ได้มีหน่วยงานในการพิจารณาคดีมากเกินไป เกิดความล่าช้าสังกัดของศาลแยกไปอยู่หลายกรมเกิดความล่าช้าและไม่ยุติธรรมระบบการรับสินบนฝังรากลึกมาแต่ในอดีตปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สยามถูกกดดันทำให้เกิดความยากลำบากในการปกครองและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
7. ปัญหาด้านการศึกษาสยามประเทศก่อนปฏิรูปยังไม่มีระบบการศึกษาสมัยใหม่ไม่มีหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในการจัดการศึกษาโดยตรงการศึกษาจำกัดอยู่เฉพาะราชวงศ์ขุนนางชั้นสูงเกิดความไม่ยุติธรรม ทำให้โอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ลางเลือน ประเทศขาดคนที่มีคุณภาพเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศขาดพลังที่จะช่วยรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยอีกทั้งยังทำให้ต่างชาติดูถูกสยามประเทศว่ามีความป่าเถื่อน ล้าหลัง


การปกครองระบอบประชาธิปไตย


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย หลังจากเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาแล้ว ได้ทรงมีพระราชดำริหารือที่ปรึกษาเกี่ยวกับการที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทย และที่ปรึกษาได้เสนอความเห็นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นควรจัดให้มีการศึกษาเพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องดังกล่าวแก่ประชาชน โดยเฉพาะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิฉะนั้นผลที่ได้จากการพระราชทานรัฐธรรมนูญก็จะไม่เป็นไปตามพระราชปณิธานที่ตั้งไว้แต่เดิม
การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน2475ทำให้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสิ้นสุดลงในระยะ2-3 วันแรก คณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารซึ่งประกอบด้วยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลายไม่ใช่เป็นของพระมหากษัตริย์แต่พระองค์เดียว การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ดังนี้ คือ 1. พระมหากษัตริย์ 2.สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมการราษฎร 4. ศาล กล่าวคือพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรอำนาจบริการร่วมกับคณะกรรมการราษฎรและทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล ระบอบการปกครองตามแบบกฏหมายฉบับนี้คล้ายกับระบบปกครองโดยรัฐสภา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการราษฎรที่จะจะควบคุมการบริหารซึ่งคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้ และมีอำนาจที่จะถอนกรรมการราษฎรออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญนี้สถาบันทางการเมือง คือ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎร


ลักษณะการปกครองตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว


แม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศเป็นสถาบันที่ถาวร และมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ตามธรรมนูญนี้ได้บัญญัติว่าการสืบราชสมบัติ ให้เป็นไปตามกฏมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อใช้พระราชบัญญัตินี้แล้วอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ถูกจำกัดลงการปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้สถาบันที่เกิดใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฏหมายต่างๆซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงมีผลบังคับได้ นอกจากนี้สภาผู้แทนยังมีอำนาจควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้ซึ่งเท่ากับมีอำนาจการบริหารอย่างเต็มที่สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาตามกาลสมัย ดังนี้
สมัยที่ 1 นับแต่วันใช้ธรรมนูญการปกครองจนถึงวันที่สมาชิกสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่งคณะราษฎร์ ซึ่งมีผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนแต่งตั้ง ผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นจำนวน 7 นาย ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมัยที่ 2 ภายในเวลา 6 เดือนหรือจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติสมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภทรวมกัน คือ (1) ได้แก่ ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้น (2) ได้แก่สมาชิกที่ได้รับแต่งตั้งอยู่แล้วในสมัยที่ 1 มีจำนวนเท่ากับประเภทที่ 1 แต่ถ้าเกินจำนวนประเภทที่ 1 ก็ให้เลือกเอาว่าผู้ใดจะเป็นต่อ ถ้าขาดให้สมาชิกประเภทที่ 1 เลือกบุคคลเพิ่ม ขึ้นจนครบ
สมัยที่ 3 เมื่อราษฎรทั่วราชอาณาจักรสอบไล่ชั้นประถมศึกษา ได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งแต่อย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันใช้ธรรมนูณการปกครองสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นประเภทเดียวไม่มีประเภท 2 เมื่อใช้ธรรมนูญการปกครองแล้วได้มีการตั้งสมาชิกสมัยที่ 1 ขึ้น ต่อมาก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสมัยที่ 2 โดยให้ราษฎรมีคุณสมบัติเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้น แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกสมาชิกอีกขั้นหนึ่งฉะนั้นจึงเป็นการเลือกทั้ง 2 ขึ้นเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ราษฎรยังมิได้เลือกผู้แทนโดย ตรง แต่ธรรมนูญนี้มิได้ใช้จนถึงสมัยที่ 3 เพราะได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อ 10 ธันวาคม 2475 ระบอบการปกครองตามพระราชบัญญัติการปกครองชั่วคราว จึงเป็นอันสิ้นสุดลงคณะกรรมการราษฎรนี้ สภาผู้แทนเลือกตั้งจากสมาชิกของ สภาทั้งสิ้น และอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของสภาผู้แทนที่ได้รับเลือก ตั้งแต่มิได้มีส่วน เข้าไปว่าราชการตามกระทรวงต่าง ๆ ด้วยเพราะกระทรวงต่าง ๆ ยังคงมีเสนาบดีเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช การตั้งและถอดถอนเสนาบดีนั้นเป็นพระราชอำนาจขององค์ พระมหากษัตริย์ แต่จะทรงใช้ได้โดยคำแนะนำของกรรมการราษฎรเท่านั้นเสนาบดีเป็นตำแหน่งข้าราชการประจำไม่ใช่การเมือง และคณะกรรมการราษฎรก็ยังไม่มีฐานะเป็นข้าราชการการเมือง เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาผู้แทนที่ทำหน้าที่ควบคุมการบริหารแทนสภาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสภาผู้แทน จึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองสำหรับการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว การพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฏหมายได้ตามเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น