หน่วยการเรียนรู้ที่ 1


หน่วยที่ 1
กฎหมายเบื้องต้น

วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปคืออะไรวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป คือวิชาที่ว่าด้วยความรู้สึกนึกคิดและหลักเกณฑ์ที่เป็นรากฐานของกฎหมาย เดิมเรียกว่าวิชาธรรมศาสตร์ อันเป็นศาสตร์เบื้องต้นในกฎหมายวิชาธรรมศาสตร์ฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ธรรมศาสตร์ฉบับของพระมโนสาราจารย์ ซึ่งได้รวบรวมขึ้นในประเทศอินเดียในราว 100 ปี ก่อนคริสต์กาล
วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ประสงค์จะวางหลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมาย ทำให้เราเข้าใจกฎหมายลักษณะต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายแล้ว จะทำให้การเรียนการศึกษากฎหมายเป็นไปด้วยความลำบาก
วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ย่อมแตกต่างกับวิชากฎหมายลักษณะใด ลักษณะหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นวิชากฎหมายอาญาพิจารณาเรื่องกฎหมายอาญาเป็นรายละเอียด แต่วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปพูดถึงเรื่องอันเป็นลักษณะทั่ว ๆ ไปของกฎหมาย ซึ่งอาจพาดพิงถึงกฎหมายอาญาบ้างก็ได้
ประโยชน์ของวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปการศึกษาวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ทำให้เรารู้ถึงวิวัฒนาการทางกฎหมาย วิวัฒนาการความคิดในทางกฎหมาย รู้ถึงความมุ่งหมายที่มีกฎหมาย ทำให้เห็นหลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมาย ทำให้เห็นระบบของกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้รู้ว่ากฎหมายคืออะไร มีสภาพอย่างไร เกิดมาได้อย่างไร สิ้นสุดไปได้อย่างไร และทำให้รู้ว่ากฎหมายมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์อย่างไรความหมายของกฎหมายกฎหมาย คือข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ข้อบังคับแห่งความประพฤติ"
คำว่ากฎหมาย อาจหมายความถึงกฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ สำหรับกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้น ถ้าไม่ได้ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้วก็ไม่ใช่กฎหมาย
ในความหมายที่เรียกว่า "บทกฎหมาย" แต่สิ่งที่ไม่ใช่กฎหมายนั้นอาจบังคับได้ดุจเดียวกับกฎหมาย เช่นกฎกระทรวง เป็นต้น แม้ประกาศและคำสั่งเจ้าพนักงานที่ออกโดยอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ก็มีสภาพบังคับดุจกฎหมายได้ลักษณะของกฎหมายจากความหมายของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น พอแยกเป็นลักษณะของกฎหมายได้ดังนี้

    1. ต้องเป็นข้อบังคับ ข้อบังคับนั้นต้องมีลักษณะดังนี้
      1. ต้องมีข้อความให้กระทำหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
      2. ต้องใช้บังคับได้ทุกสถานที่และแก่บุคคลทั่วไป
      3. ต้องใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะได้มีประกาศยกเลิก
    2. ต้องเป็นข้อบังคับของรัฐ มิใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในประเทศไทยฝ่ายที่มีหน้าที่ออกกฎหมายคือฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งได้แก่รัฐสภา
    3. ข้อบังคับนั้นต้องกำหนดความประพฤติของมนุษย์ กฎหมายไม่ได้กำหนดความประพฤติของสัตว์ ถ้าสัตว์ทำให้มนุษย์ได้รับความเสียหาย กฎหมายย่อมไม่ลงโทษสัตว์ แต่จะลงโทษมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของสัตว์หรือควบคุมดูแลสัตว์
ข้อบังคับนั้นมนุษย์จะต้องปฏิบัติตาม ถ้าฝ่าฝืนจะต้องได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษกฎหมายจึงมีสภาพบังคับ เช่น กฎหมายให้บุคคลเสียภาษีให้รัฐ หรือไม่ให้ประทุษร้ายต่อร่างกายของ
ผู้อื่น ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนย่อมจะได้รับโทษในเมื่อเป็นความผิดทางอาญา โทษที่ได้รับอาจจะเป็นโทษประหารชีวิต โทษจำคุก โทษกักขัง โทษปรับ โทษริบทรัพย์สิน หรือต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความ
รับผิดทางแพ่ง
ที่มาของกฎหมายที่มาของกฎหมาย หมายถึงว่าเราจะพบข้อบังคับของกฎหมายได้ ณ ที่ใด กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ศาลจะนำไปใช้ปรับแก่คดีที่เกิดขึ้น ที่มาของกฎหมายมี 2 ประการคือ
1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร2. กฎหมายจารีตประเพณี


กฎหมายลายลักษณ์อักษรกฎหมายลายลักษณ์อักษรย่อมมาจากอำนาจนิติบัญญัติของรัฐ โดยตราขึ้นไว้เป็นข้อบังคับแห่งความประพฤติและประกาศให้ราษฎรทราบ และบางกรณีฝ่ายนิติบัญญัติก็ได้มอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารออกสิ่งที่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายมา เช่น พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวง เป็นต้น ซึ่งก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเหมือนกัน กฎหมายลายลักษณ์อักษรมีดังนี้คือ
    1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ
    2. พระราชบัญญัติ
    3. พระราชกำหนด
    4. พระราชกฤษฎีกา
    5. กฎกระทรวง
    6. เทศบัญญัติ
    7. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
    8. ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
    9. ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด
    10. ข้อบังคับองค์การบริหารส่วนตำบล
    11. สนธิสัญญา
    12. ประมวลกฎหมาย
กฎหมายรัฐธรรมนูญ
กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมาก และศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายอื่น ๆ กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีชื่อว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" ซึ่งได้ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาจำนวน 99 คน สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้ง ปรับปรุง

โครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โดยได้คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ เมื่อรัฐสภาได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นอย่างรอบคอบแล้ว ได้ลงมติเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลง
พระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติถึงเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ (1) บททั่วไป (2) พระมหากษัตริย์ (3) สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย (4) หน้าที่ของชนชาวไทย (5) แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (6) รัฐสภา (7) คณะรัฐมนตรี (8) ศาล (9) การปกครองส่วนท้องถิ่น (10) การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (11) การตรวจเงินแผ่นดิน (12) การแก้ไขเพิ่มเติม
รัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การตราร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น จะกระทำได้ก็แต่ด้วยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ใครเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะเสนอได้ก็แต่โดย
(1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ (2) คณะรัฐมนตรี แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี การเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะกระทำได้เมื่อพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นสังกัดมีมติให้เสนอได้ และต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่ายี่สิบคนรับรอง
ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อไปนี้
    1. การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
    2. การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
    3. การกู้เงิน หรือการค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้
    4. เงินตรา
ร่างพระราชบัญญัติต้องเสนอต่อใคร
ร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นต่อวุฒิสภา วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้นให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน
พระราชกำหนด
พระราชกำหนดเป็นกฎหมายประเภทหนึ่งซึ่งมีฐานะเท่ากับพระราชบัญญัติ แต่มีวิธีการตราขึ้นใช้บังคับแตกต่างไปจากพระราชบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
พระราชกำหนดจะตราขึ้นในเหตุ 2 ประการดังนี้คือ
1. ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตรา
พระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ การตราพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า
คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ หรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น


ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติ และสภา
ผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือ เงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ พระราชกำหนดในกรณี เช่นนี้จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 3 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้นำบทบัญญัติในข้อ 1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
พระราชกฤษฎีกา
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย พระราชกฤษฎีกามีสภาพบังคับเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ประชาชนได้เป็นการทั่วไป แต่มีฐานะต่ำกว่าพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกาจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้น โดยปกติพระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ต่อเมื่อมีพระราชบัญญัติถวายพระราชอำนาจไว้เช่นนั้น พระราชกฤษฎีกาจะออกได้ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่สูงกว่า คือ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่ง
กฎกระทรวง
กฎกระทรวง เป็นบทบัญญัติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้ออกในนามของกระทรวงเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดนั้น ๆ ส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงก็มีอำนาจออกกฎกระทรวงได้ เช่นกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่ามีฐานะเป็นกระทรวง
กฎกระทรวงนั้นจะออกได้ต่อเมื่อมีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่งให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง และจะต้องอ้างบทกฎหมายที่เป็นแม่บทให้อำนาจไว้ในคำปรารภเสมอว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตราใดแห่งพระราชบัญญัติใด รัฐมนตรีจึงออกกฎกระทรวงนั้น
กฎกระทรวงมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ประชาชนได้เป็นการทั่วไป และต้องมีข้อความไม่ขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด
เทศบัญญัติ
พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ให้อำนาจเทศบาลที่จะตราเทศบัญญัติขึ้นใช้บังคับแก่ประชาชนในเขตเทศบาลของตน และจะวางโทษปรับผู้ละเมิดเทศบัญญัติได้ไม่เกิน 1,000 บาท
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ให้อำนาจกรุงเทพ
มหานครที่จะตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นใช้บังคับแก่ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและจะกำหนดโทษจำคุกผู้ละเมิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้ไม่เกิน 6 เดือน และหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 ให้อำนาจเมืองพัทยาที่จะตราข้อบัญญัติเมืองพัทยาขึ้นใช้บังคับแก่ประชาชนในเขตเมืองพัทยา และจะกำหนดโทษจำคุกผู้ละเมิด
ข้อบัญญัติเมืองพัทยาได้ไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 ให้อำนาจองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายได้ ในข้อบัญญัติจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดโทษจำคุกเกิน 6 เดือน และหรือปรับเกิน 10,000 บาทเว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อบังคับองค์การบริหารส่วนตำบล
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ให้อำนาจองค์การบริหารส่วนตำบลที่จะออกข้อบังคับตำบล เพื่อใช้บังคับในตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในการนี้จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกิน 500 บาท
สนธิสัญญา
สนธิสัญญาคือข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างรัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศก่อให้เกิดสิทธิและพันธะระหว่างภาคี
สนธิสัญญานี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะทำสัญญากับนานาประเทศ แต่สนธิสัญญาที่ประเทศไทยทำกับต่างประเทศนี้ไม่ใช่กฎหมาย เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา สนธิสัญญาดังกล่าวจึงกลายเป็นกฎหมาย
ขึ้นมา
ประมวลกฎหมาย
ประมวลกฎหมายมีศักดิ์เท่ากับพระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายเป็นการเอากฎหมายประเภทเดียวกันเข้าไว้ในที่เดียวกัน และเรียงมาตราตั้งแต่ต้นจนจบเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลรัษฎากร
นอกจากนี้ประกาศคณะปฏิวัติ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชยังถือว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรอีกด้วย
ตัวอย่าง (1) เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินยึดอำนาจของรัฐได้โดยเด็ดขาดแล้ว หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการได้ฉะนั้นคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 2376/2526)
ตัวอย่าง (2) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ร่างพินัยกรรมซึ่ง
เจ้ามรดกยังไม่ได้ลงพระนาม เป็นพินัยกรรมตามกฎหมายได้ พระบรมราชโองการถือว่าเป็นกฎหมาย ร่างพินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย (ฎีกาที่ 2861/2523)
กฎหมายจารีตประเพณีกฎหมายจารีตประเพณีเป็นกฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นกฎหมายที่คนทั่วไปรู้สึกกันทั่วไปว่าเป็นกฎหมาย กฎหมายจารีตประเพณีจะนำมาใช้บังคับแก่คดีได้ต่อเมื่อไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้โดยตรง ถ้ามีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้โดยตรงศาลก็ต้องใช้กฎหมายนั้น จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ต้องมีลักษณะดังนี้
    1. ต้องเป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาช้านาน
    2. ต้องเป็นจารีตประเพณีซึ่งบุคคลในท้องถิ่นถือปฏิบัติกันทั่วไปอย่างเปิดเผย
    3. ต้องเป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อตัวบทกฎหมายที่มีอยู่
    4. ต้องเป็นจารีตประเพณีที่ชอบด้วยเหตุผล และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
      อันดีของประชาชน
    5. ต้องเป็นจารีตประเพณีที่แน่นอนและจำต้องปฏิบัติ
กฎหมายจารีตประเพณี เป็นกฎหมายที่มีแหล่งกำเนิดมาจากคำพิพากษาบรรทัดฐาน มากกว่าจากกฎหมายที่รัฐสภาบัญญัติขึ้น มีใช้ในประเทศอังกฤษ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศ
แคนาดา เป็นต้น
ประเภทของกฎหมายกฎหมายแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้คือ
    1. กฎหมายเอกชน
    2. กฎหมายมหาชน
    3. กฎหมายระหว่างประเทศ
กฎหมายเอกชน
กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล กฎหมายเอกชนมีดังนี้คือ
1. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยบุคคลตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ ไปจนกระทั่งตายว่ามีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างไรบ้างอันกฎหมายยอมรับบังคับบัญชาให้ ตั้งแต่มนุษย์เกิดมาจนกระทั่งตายก็ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ หลายอย่าง จึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ บุคคล ทรัพย์ นิติกรรม สัญญา หนี้ ครอบครัว มรดก สำหรับสัญญาที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องในชีวิต ก็มีสัญญาซื้อขายแลกเปลี่ยน ให้ เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน ยืม ฝากทรัพย์ ค้ำประกัน จำนอง จำนำ ตัวแทน นายหน้า ประกันภัย เป็นต้น
2. กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงวิธีดำเนินคดีในทางแพ่ง เริ่ม
ตั้งแต่เสนอคำฟ้องต่อศาล การยื่นคำให้การ การชี้สองสถาน การสืบพยาน การตัดสินชี้ขาดคดี และ
การอุทธรณ์ฎีกา ตลอดจนการบังคับคดีอันเป็นที่สุดของกระบวนพิจารณา


กฎหมายมหาชน
กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน กฎหมายมหาชนมีดังนี้คือ
1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดที่ว่าด้วยการปกครองประเทศ เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมาก และศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายอื่น ๆ กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังได้กล่าวมาแล้ว
2. กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบองค์การฝ่ายปกครอง และวิธีการจัดบริการสาธารณะ รวมทั้งความเกี่ยวพันระหว่างองค์การฝ่ายปกครองด้วยกันเอง 
ตลอดจนความเกี่ยวพันระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชน กฎหมายปกครองซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วนดังนี้คือ
    1. ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง แบ่งแยกออกเป็น
2.1.1 สำนักนายกรัฐมนตรี
      1. กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง
      2. ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง
      3. กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรมซึ่งสังกัดหรือ
        ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง
2.2 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค แบ่งแยกออกเป็น2.2.1 จังหวัด
2.2.2 อำเภอ
2.3 ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น แบ่งแยกออกเป็น2.3.1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด
      1. เทศบาล
      2. ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร
3. กฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดอาญาและจะลงโทษหรือใช้วิธีการอย่างใดแก่การกระทำอันเป็นความผิดอาญานั้น โทษในกฎหมายอาญามีดังนี้คือ 
(1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์สิน
4. กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงวิธีดำเนินคดีในทางอาญาซึ่งว่าด้วยอำนาจของพนักงานสอบสวนและศาล การฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายเรียกและหมายอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยชั่วคราว การสอบสวน การพิจารณาในศาล
ชั้นต้น การอุทธรณ์ฎีกา พยานหลักฐาน การบังคับตามคำพิพากษา การอภัยโทษ การเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและการลดโทษ
5. พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เป็นกฎหมายที่กำหนดและวางระเบียบของศาลยุติธรรม ระบุอำนาจของศาลและอำนาจของผู้พิพากษาว่ามีอยู่อย่างไร พระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้แบ่งศาลออกเป็น 3 ชั้น คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ส่วนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้แบ่งศาลปกครองออกเป็น 2 ชั้น คือศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด



กฎหมายระหว่างประเทศ
กฎหมายระหว่างประเทศ คือบรรดาข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งนานาประเทศยินยอมปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างกัน กฎหมายระหว่างประเทศแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง เป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ควบคุมการติดต่อระหว่างรัฐเป็นสำคัญ และไม่ได้คำนึงถึงเอกชนในรัฐ สิทธิและหน้าที่ตกอยู่แก่รัฐมากกว่าเอกชนโดยตรง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองกล่าวถึงเรื่องเขตแดน การทำสนธิสัญญาทางไมตรี การทำสงคราม และการสงบศึก เป็นต้น
2. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ในรัฐต่างกันในทางแพ่ง เช่น เรื่องสัญชาติของบุคคล สิทธิและหน้าที่ของคนต่างด้าว และการขัดกันแห่งกฎหมาย เป็นต้น
3. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา เป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อขจัดปัญหาและปราบปรามผู้กระทำผิดอาญา เช่น การลงโทษผู้กระทำผิดอาญานอกราชอาณาจักร หรือเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น
ประวัติความเป็นมาของกฎหมายไทย
ประวัติความเป็นมาของกฎหมายไทย พอแยกพิจารณาเป็นสมัย ๆ ได้ดังนี้คือกฎหมายสมัยกรุงสุโขทัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้จดจำเอาคติของพราหมณ์ หรือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาผสมผสานกับคติเดิมของไทยน่านเจ้า และปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้เข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองของไทยและนิสัยความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยนั้น แล้วทรงจารึกข้อความเหล่านี้ไว้ในหลักศิลาจารึก ซึ่งเราเรียกกันว่า "ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง" ในหลักศิลาจารึกได้กล่าวถึงกฎหมายอันว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และกฎหมายที่เป็นสาธารณะเกี่ยวกับกิจการของผู้ใหญ่ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ตลอดจนหน้าที่ที่พลเมืองจะต้องปฏิบัติแก่กันอันเป็นหน้าที่สาธารณะ หรือหน้าที่อันเป็นส่วนรวม

นอกจากนี้ในหลักศิลาจารึกยังมีกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมาย 4 บทอีก บทที่ 1 เป็น กฎหมายเกี่ยวกับมรดก บทที่ 2 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน บทที่ 3 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณา และบทที่ 4 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิธีฎีกากฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยากฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของพระมโนสาราจารย์ กฎหมายเป็นเครื่องกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของคนในสังคม และให้ความยุติธรรมในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ กฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1. กฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ กำหนดฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ เช่น
พระอัยการตำแหน่งนาทหาร นาพลเรือน พระอัยการทาษ กฎมณเฑียรบาล เป็นต้น โดยกำหนดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
2. กฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อให้ความยุติธรรมในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ โดยอาศัยกระบวนการทางศาล แบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังนี้ กฎหมายพระธรรมนูญ กำหนดว่าคดีอย่างไรจะขึ้นศาลอะไรกฎหมายลักษณะรับฟ้อง กฎหมายลักษณะพยาน กฎหมายลักษณะพิสูจน์เพื่อหาผู้บริสุทธิ์โดยวิธีดำน้ำลุยเพลิง กฎหมายลักษณะตระลาการ และกฎหมายลักษณะอุทธรณ์
กฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อได้บัญญัติขึ้นมาแล้วได้เก็บไว้ในที่ต่าง ๆ ดังนี้
    1. ห้องเครื่อง เป็นฉบับที่พระมหากษัตริย์ทรงอ่าน
    2. หอหลวง เป็นฉบับที่ขุนนาง ข้าราชการทั่ว ๆ ไปอ่านหรือคัดลอกเอาไป
    3. ศาลหลวง เป็นฉบับที่ผู้พิพากษาตุลาการอ่านหรือเชิญมาตัดสิน
กฎหมายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นกฎหมายที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ชำรุดสูญหายไป และบางฉบับก็ขัดแย้งกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงโปรดให้มีการชำระสะสางกฎหมายใหม่ใน พ.ศ. 2347 ในที่สุดก็ได้ตรากฎหมายขึ้นฉบับหนึ่งเรียกว่า กฎหมายตราสามดวง
ตราสามดวงที่ประทับบนกฎหมายได้แก่
    1. ตราราชสีห์ เป็นตราสำหรับตำแหน่งสมุหนายก
    2. ตราคชสีห์ เป็นตราสำหรับตำแหน่งสมุหกลาโหม
    3. ตราบัวแก้ว เป็นตราสำหรับตำแหน่งขุนคลัง
กฎหมายตราสามดวงยังคงได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของพระมโนสาราจารย์เช่นเดียวกัน กฎหมายตราสามดวงได้ใช้เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่ากฎหมายตราสามดวงกลายเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยไม่ทันต่อเหตุการณ์ของบ้านเมือง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก และในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง ที่อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกได้แผ่เข้ามาในประเทศไทยเป็นอันมาก ได้มีการประกาศยกเลิกกฎหมายตราสามดวงที่พ้นสมัยเป็นคราว ๆ ไป และยกเลิกหมดสิ้นใน พ.ศ. 2478
การใช้ประมวลกฎหมายแบบใหม่แนวความคิดในการจัดทำประมวลกฎหมายแบบใหม่ ได้เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ภายใต้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมซึ่งได้ทำไว้กับต่างประเทศก่อนหน้านี้ ทำให้ชาวต่างประเทศแทนที่จะอยู่ภายใต้บังคับของศาลไทย กลับไปขึ้นอยู่ภายใต้บังคับของศาลกงสุล และในระยะเวลาต่อมาอำนาจของศาลกงสุลได้ขยายออกไปยังชาวต่างชาติที่อยู่ภายใต้บังคับของประเทศมหาอำนาจอีกด้วย ทำให้ประเทศไทยรู้สึกอึดอัดเดือดร้อนในด้านการปกครอง เกี่ยวเนื่องมาจากอำนาจของศาลกงสุลนี้นานาประการ และเริ่มรู้สึกถึงการเสื่อมเสียอำนาจอธิปไตยของตน
ในปี พ.ศ. 2435 ได้มีการปฏิรูประเบียบการศาลยุติธรรมเสียใหม่ โดยการจัดตั้งกระทรวง
ยุติธรรมขึ้น และจัดระบบศาลตามแบบชาติตะวันตก ได้มีการจัดหาผู้รู้กฎหมายชาวตะวันตก เช่น ชาวเบลเยี่ยม อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายประจำศาลต่าง ๆ ได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นในปี พ.ศ. 2440 โดยมีการตั้งกรรมการชุดหนึ่ง มีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดี
ว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเสร็จในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับของอาณาอารยะประเทศ ทำให้วิธีการศาลกงสุลและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตหมดสิ้นไปจากประเทศไทย
ขอบเขตของการใช้กฎหมาย
กฎหมายทั้งปวงจะดำรงความยุติธรรมและถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะดำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ คือถ้าใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้แต่ถ้าหากนำไปใช้ให้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลงบิดพริ้วให้ผันผวนไป ด้วยความหลงผิด
ด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่าง ๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพทันทีและกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง
กฎหมายนั้นเมื่อได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้แล้ว โดยปกติศาลยุติธรรมเป็นผู้ใช้กฎหมายโดยนำมาปรับกับคดีในการพิจารณาพิพากษา ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม ในการที่จะได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาฟ้องต่อศาล คดีก็จะต้องเริ่มจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้จับกุมเสียก่อน แล้วผ่านมายังพนักงานอัยการเป็นผู้พิจารณาและดำเนินการฟ้องร้องในกรณีที่เป็นคดีอาญา หรือทนายความอาจจะเป็นผู้ฟ้องร้องคดีเองก็ได้ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา
กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง
กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง หมายความว่ากฎหมายจะใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นในอนาคตนับ
ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้กฎหมายเป็นต้นไปเท่านั้น และกฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่การกระทำหรือ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันใช้บังคับแห่งกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อการมีเสถียรภาพของฐานะทางกฎหมาย กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังแยกได้เป็น 2 กรณีดังนี้
1. กฎหมายแพ่ง กฎหมายแพ่งไม่มีผลย้อนหลัง เว้นแต่กฎหมายจะระบุไว้โดยชัดแจ้งให้มีผลย้อนหลัง เช่น กฎหมายเก่าห้ามไม่ให้บิดานอกสมรส (บิดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา) ร้องขอเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตร แต่กฎหมายใหม่ได้บัญญัติให้บิดานอกสมรสร้องขอเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรได้ บิดานอกสมรสนั้นย่อมร้องขอเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรได้ บิดานอกสมรสย่อมเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรตั้งแต่เมื่อได้ปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ แต่มิใช่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ขณะที่ใช้กฎหมายเก่า เพราะกฎหมายใหม่ไม่มีผลย้อนหลัง
2. กฎหมายอาญา ตามปกติแล้วกฎหมายอาญาจะไม่มีผลย้อนหลัง กฎหมายอาญาจะมี
ผลย้อนหลังได้ ถ้ากฎหมายที่ออกมาภายหลังที่มีการกระทำความผิดนั้น เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่กระทำผิด
ใช้กฎหมายไทยได้ที่ใดบ้างกฎหมายไทยย่อมใช้ได้ในที่ต่าง ๆ ดังนี้คือ
    1. ในราชอาณาจักรไทย
    2. การกระทำความผิดในเรือหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักรไทย และต้องใช้กฎหมายไทย
    3. ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักรไทย จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรไทย คือ
      1. ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย
      2. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและแปลง
      3. ความผิดฐานชิงทรัพย์และความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งกระทำในทะเลหลวง
4. การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยก็ได้
นอกจากนี้ยังสามารถใช้กฎหมายไทยในต่างประเทศได้ในบางกรณี ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481
วันเริ่มต้นของการใช้กฎหมาย
การให้ประชาชนรู้ว่ากฎหมายฉบับใดเริ่มใช้บังคับเมื่อใด มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ
ประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้น นับตั้งแต่วันใช้กฎหมายบังคับเป็นต้นไป ในการที่จะใช้กฎหมายบังคับนั้น โดยปกติให้ใช้กฎหมายสำหรับวันข้างหน้า มิให้ใช้บังคับย้อนหลัง ด้วยเหตุนี้ประชาชนจะต้องรู้ว่ากฎหมายมีอยู่อย่างไร โดยจะต้องมีการเผยแพร่กฎหมายนั้นออกไปอย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าก่อนตามสมควร และเมื่อได้มีประกาศใช้กฎหมายบังคับแล้วประชาชนจะโต้แย้งในภายหลังว่าตนไม่รู้กฎหมายนั้นไม่ได้
ตามระบบกฎหมายไทย ถือว่าการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นเงื่อนไขสำคัญทั้งในแง่ที่ถือว่ากฎหมายนั้นเป็นกฎหมาย และในแง่ที่ถือว่ากฎหมายนั้นเริ่มต้นใช้บังคับในทางปฏิบัติ วันเริ่มใช้บังคับกฎหมายมีดังนี้คือ
1. ในกรณีปกติ กฎหมายให้เริ่มใช้บังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทราบล่วงหน้าหนึ่งวันหลังจากวันประกาศเป็นอย่างน้อย เช่น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2540
  1. ในกรณีรีบด่วน ให้ใช้กฎหมายบังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
กฎหมายบางฉบับอาจกำหนดให้ใช้บังคับ ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลาหลาย ๆ วันก็ได้ เช่น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
วันสิ้นสุดของการใช้กฎหมาย
ปกติแล้วกฎหมายจะไม่ยกเลิกไปเพราะเก่า หรือไม่ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานหรือเพราะไม่มีโอกาสใช้ ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกกฎหมาย ก็ต้องถือว่ากฎหมายนั้นยังคงใช้บังคับได้อยู่เสมอ
การยกเลิกกฎหมายมี 2 กรณีคือ
1. การยกเลิกโดยตรง หรือโดยชัดแจ้ง มีดังนี้คือ
    1. กฎหมายได้กำหนดวันสิ้นสุดแห่งการใช้บังคับกฎหมายนั้นเอง เช่น กฎหมายนั้นกำหนดให้ใช้บังคับเป็นเวลา 2 ปี เมื่อครบ 2 ปีแล้วกฎหมายนั้นย่อมสิ้นสุดลง
    2. กฎหมายใหม่บัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายเก่าฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือหลายฉบับหรือให้ยกเลิกเสียบางมาตรา เช่น พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 หรือพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2521 เป็นต้น
    3. ในกรณีที่มีการตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับ ต่อมารัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดซึ่งได้ประกาศใช้นั้น พระราชกำหนดนั้นก็เป็นอันยกเลิกไป แต่ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้เป็นไประหว่างที่ประกาศใช้พระราชกำหนดนั้น
2. การยกเลิกโดยปริยาย มีดังนี้คือ
    1. ในกรณีที่กฎหมายใหม่มีบทบัญญัติเช่นเดียวกับกฎหมายเก่า ก็ต้องถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า
    2. ในกรณีที่กฎหมายใหม่มีข้อความ ขัดหรือแย้งกับกฎหมายเก่า ก็ต้องถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า เพราะต้องถือว่ากฎหมายใหม่สำคัญกว่ากฎหมายเก่าหรือดีกว่ากฎหมายเก่า
ผู้ใช้กฎหมาย
โดยที่รัฐมีหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชน กล่าวคือเมื่อมีผู้กล่าวอ้างว่ามีบุคคลละเมิดสิทธิของตนทั้งทางแพ่งหรือาญา หรือทางบ้านเมืองเชื่อว่ามีบุคคลกระทำผิดกฎหมาย ผู้เสียหายหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็อาจดำเนินการฟ้องร้องบุคคลนั้นต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามสิทธิหรือลงโทษบุคคลนั้นได้ มีบุคคลหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย
ดังนี้คือ
ผู้พิพากษา
ผู้พิพากษาหรือข้าราชการตุลาการ คือข้าราชการผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี รวมตลอดถึงผู้ช่วยผู้พิพากษาและข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
ศาลเป็นสถาบันที่ใช้กฎหมายในบรรดาอรรถคดีที่ฟ้องร้องขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือ
คดีอาญา โดยปกติผู้พิพากษาจะนำกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้วมาใช้ปรับกับคดี ผู้พิพากษาจะเป็นผู้ตีความว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมีความหมายเป็นประการใด เมื่อผู้พิพากษาได้ตีความกฎหมายไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว คดีต่อไปผู้พิพากษาก็จะถือเอาการตีความนั้นเป็นหลักในการพิจารณาต่อไป
ผู้พิพากษาย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย พระ
มหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมพ้นจากตำแหน่ง ประธานศาลฎีกาเป็นตำแหน่งสูงสุดของผู้พิพากษาและถือว่าเป็นประมุขแห่งตุลาการ
ส่วนศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นตำแหน่งสูงสุดของตุลาการศาลปกครอง
พนักงานอัยการ
พนักงานอัยการ เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งสูงสุดของพนักงานอัยการคืออัยการสูงสุด พนักงานอัยการมีฐานะเป็นทนายแผ่นดิน มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ในการฟ้องคดีของพนักงานอัยการนั้น คดีจะต้องเริ่มจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งเป็นผู้จับกุมผู้ต้องหาและดำเนินการสอบสวน พร้อมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้วส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการก็จะพิจารณาว่าควรจะฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลหรือไม่ หรือควรจะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม
สำนักงานอัยการสูงสุดนอกจากจะมีหน้าที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีเป็นหลักแล้ว ยังมีหน้าที่ตามกฎหมายรับแก้ต่างคดี และให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาให้กับ
ข้าราชการ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอีกด้วย นอกจากนี้สำนักงานอัยการสูงสุดยังมีโครงการแก้ต่างคดีและให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมายให้กับประชาชนด้วย เพื่อให้การประสิทธิ์ประสาทความ
ยุติธรรมแก่ประชาชนโดยรัฐเป็นไปอย่างสมบูรณ์
ทนายความ
ทนายความ คือบุคคลที่ตัวความหรือผู้แทนของตัวความตั้งขึ้น เพื่อให้ว่าความหรือแก้คดีแทนในศาล ทนายความต้องเป็นผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความให้แล้ว การตั้งทนายความไม่เป็นสิ่งจำเป็นถ้าหากตัวความมีความสามารถจะว่าความของตนเองได้ ก็มีสิทธิจะดำเนินคดีของตนเองได้โดยไม่ต้องตั้งทนายความ
การเขียนคำคู่ความและการดำเนินคคีในศาล บุคคลอื่น ๆ จะกระทำไม่ได้นอกจากทนายความและตัวความเอง ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528
ในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ก็อาจต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายอยู่เสมอเช่น การทำนิติกรรมสัญญา การรับมรดก ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาและบุตร การถูกกล่าวหาว่าทำละเมิด หรือบางครั้งเกิดถูกจับกุมสอบสวนในคดีอาญาโดยพนักงานสอบสวน ผู้ที่มีโอกาสปรึกษาหารือกับทนายความ ย่อมมีโอกาสใช้สิทธิตามกฎหมายได้ถูกต้องสมบูรณ์กว่าผู้ที่กระทำการโดยลำพัง
หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมสอดส่องความประพฤติและมรรยาทของทนายความ คือสภาทนายความ การจ้างทนายความให้ว่าความนั้นเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ตำรวจ
ตำรวจเป็นหน่วยงานเบื้องต้นในกระบวนการยุติธรรม ที่ปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองพิทักษ์สันติสุขของประชาชน หรือที่เราเรียกกันว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เกี่ยวเนื่องกับการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม ซึ่งมีความนึกคิดแตกต่างกันไปตามสถานภาพการประกอบอาชีพในวิถีชีวิตประจำวัน หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันเป็นธรรมดาปกติวิสัย
ตำรวจมีหน้าที่จับกุมผู้ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินคดี เมื่อตำรวจสอบสวนผู้ต้องหาว่ากระทำผิดเสร็จแล้ว ก็จะส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องต่อไป
ดะโต๊ะยุติธรรม
ดะโต๊ะยุติธรรม คือข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจ และหน้าที่ในการวินิจฉัย
ชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม ในการพิจารณาคดีดังกล่าวนี้ องค์คณะในการพิจารณาต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งคนนั่งพิจารณาเป็นองค์คณะร่วมกับผู้พิพากษาประจำศาลนั้นด้วย หากการพิจารณานั้นทำไปโดย
มิได้มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาร่วมด้วย การพิจารณานั้นไม่ชอบ ผู้พิพากษาศาลสูงมีอำนาจให้ศาล
ชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีเสียใหม่ให้ถูกต้องได้ โดยไม่จำต้องยกฟ้องให้ไปฟ้องใหม่ ดะโต๊ะยุติธรรมจึงมีอำนาจและหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับผู้พิพากษา
ดะโต๊ะยุติธรรมต้องเป็นอิสลามศาสนิก และมีภูมิรู้ในศาสนาอิสลามพอที่จะเป็นผู้วินิจฉัย
ชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดก พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้นำกฎหมาย อิสลามมาใช้ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ดังต่อไปนี้คือ
    1. จะต้องเป็นกรณีซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์และจำเลย
    2. จะต้องเป็นกรณีที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล เท่านั้น
    3. กฎหมายอิสลามที่จะนำมาใช้เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยครอบครัว มรดก และจะนำมาใช้บังคับในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัว และมรดกของอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้นใน 4 จังหวัดภาคใต้
    4. เฉพาะบทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก คงเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6
อนุญาโตตุลาการ
อนุญาโตตุลาการ คือบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาที่คู่ความหรือคู่กรณีตั้งขึ้นเพื่อให้ชี้ขาดข้อพิพาท อนุญาโตตุลาการแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. อนุญาโตตุลาการในศาล อนุญาโตตุลาการในศาลเป็นอนุญาโตตุลาการที่คู่ความหรือคู่กรณีตั้งขึ้นเพื่อให้ชี้ขาดข้อพิพาทในระหว่างที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความอาจตั้งอนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือหลายคนให้ทำการชี้ขาดข้อพิพาทก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าข้อตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการไม่ผิดกฎหมาย ก็ให้ศาลอนุญาตให้ตั้งได้ อนุญาโตตุลาการมีอำนาจที่จะชี้ขาด ข้อพิพาทในคดีแพ่งเท่านั้น จะไปชี้ขาดข้อพิพาทในคดีอาญาไม่ได้ การให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทนั้นทำให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็ว เมื่ออนุญาโตตุลาการยื่นคำชี้ขาดข้อพิพาทของตนต่อศาล ถ้าศาลเห็นว่าคำชี้ขาดนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายก็ให้ศาลพิพากษาไปตามคำชี้ขาดนั้น
2. อนุญาโตตุลาการนอกศาล อนุญาโตตุลาการนอกศาลได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ในปัจจุบันนี้ความนิยมของคู่กรณีในการระงับข้อพิพาททางแพ่งทางอนุญาโตตุลาการนอกศาลมีมากขึ้น เพราะเป็นวิธีที่สามารถแก้ปัญหาข้อขัดแย้งได้โดยสะดวกรวดเร็วไม่สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาในลักษณะประนีประนอม ซึ่งจะช่วยลดจำนวนคดีความที่จะขึ้นสู่ศาลอีกด้วย
คู่กรณีอาจตั้งอนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตาม
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ห้ามมิให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้น เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยื่น
คำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ และศาลได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคำชี้ขาดใดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้น
3. อนุญาโตตุลาการต่างประเทศ อนุญาโตตุลาการต่างประเทศ หมายถึง อนุญาโต
ตุลาการที่ทำการพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาททั้งหมดหรือโดยส่วนใหญ่นอกราชอาณาจักรไทย และคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้มีสัญชาติไทย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศจะได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทย ก็เฉพาะแต่คำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญาหรือความ
ตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้น




ทำแบบทดสอบกันน้ะจ้ะ